News บทความที่น่าสนใจ 

 

เทคนิคการจับประเด็นสำคัญ

 


  

ในการจัดกิจกรรมนั้น บทบาทเรื่องการจัดการความรู้(Knowledge management) มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเห็นภาพรวมหรือองค์รวมของเนื้อหาชัดเจนเพิ่มมากขึ้น เรามักเรียกบทบาทผู้สรุปประเด็นหรือผู้จับประเด็นลักษณะนี้ว่า "Note taker" บางครั้งเรียก KM Facilitator

การเป็น Note taker ที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานด้าน หลักวิชาการศึกษา คือ ต้องรู้เรื่องการจัดการข้อมูล ทั้งความรู้ฝังลึก(Tacit knowledge) - ความรู้แบบตำรา(Explicit knowledge) เเละหลักการและหลักการสื่อสาร คือ ต้องสามารถเขียนและอธิบายสื่อความหมายให้คนเข้าใจง่าย โดยในที่นี้ จะอธิบายเทคนคการจับประเด็นที่ถอดมาจากประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งจะอธิบาย ดังนี้ 

เทคนิคการประเด็นสำคัญ ในการจับประเด็นนั้นขั้นแรกเราจะฟังหรือได้เห็นภาพ ขั้นที่สองเราจะคิดจัดลำดับข้อมูล ขั้นที่สามเราจะเชื่อมโยงสู่ประสบการณ์เดิมของผู้จับประเด็น ขั้นที่สี่เราจะเขียนเป็นตัวอักษร-ภาพ และขั้นสุดท้ายเราจะสื่อสารด้วยการเล่าเรื่อง
 
กระบวนการ ๕ ขั้นในการจับประเด็นสำคัญ
ขั้นที่ ๑ : ขั้นรับสาร 
- ในขั้นนี้เราจะรับสารทั้งทางเสียง และทางภาพ การจะรับสารได้ครบถ้วนตรงประเด็นขั้นแรก ต้องใช้สมาธิเพื่อจับใจความ มีสมาธิอยู่กับสารที่กำลังสื่ออยู่ทุกขณะ
- มีหลักการจับเบื้องต้นในใจอยู่เเล้ว คือ หลัก ๕W๑H ได้แก่ ใคร ทำอะไร ทำไม ที่ไหน สิ่งไหน และอย่างไร โดยการมองภาพใหญ่ เมื่อรู้เรื่องเเล้ว จากนั้นมองภาพย่อยโดยหลัก Why และ How to เพื่อความรวดเร็วทันต่อสารที่สื่ออย่างรวดเร็ว

ขั้นที่ ๒ : ขั้นจัดลำดับข้อมูล 
- การจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล โดยนำหลัก ๕W๑H ที่อาจมีหลายชุดข้อมูล ให้นำเเต่ละชุดข้อมูล มาจัดลำดับความสำคัญ ประเด็นหลัก ประเด็นรอง โดยยกหัวข้อที่เด่นที่สุด(Topic) เเล้วจัดลำดับประเด็นสำคัญ(Main idea) ของหัวข้อนั้นๆ ตัวอย่างเช่น การวาดแผนผังความคิด(Mind map) จะมีประเด็นหลักและประเด็นรองชัดเจน
- พัฒนาการของข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์-สังเคราะห์ ในแนวคิดของ Hideo Yamazaki จะเรียงลักษณะ ดังนี้ Data(ข้อมูล) / Information(สารสนเทศ) / Knowledge(ความรู้) / Wisdom(ปัญญา) โดยการสังเคราะห์จะช่วยให้ชุดความรู้นั้นลึกขึ้นไปเรื่อยๆ หรือ การคิดหลายชั้นนั่นเอง 

ขั้นที่ ๓ : ขั้นเชื่อมโยงสู่ประสบการณ์เดิม
- ในขั้นนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ดิมของผู้เป็นโน๊ต ซึ่งควรที่จะมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นๆที่จับประเด็น โดยรสอดเเทรกหลักคิด วิธีคิด เนื้อหา เข้ามาเพิ่มเติม เพราะเวลาสื่อสารจะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น
- ไม่ควรใส่ความคิดเห็นส่วนตัว อารมณ์ หรือ ความเห็นสุดโต่ง เเต่จะใส่ข้อมูลข้อเท็จจริงในสังคม พร้อมยกตัวอย่าง

ขั้นที่ ๔ : ขั้นการเขียนกราฟฟิค 
- ขั้นแรกง่ายๆ เราต้องจับสารออกมาเป็นประเด็นสำคัญ โดยเขียนร่างเป็นประเด็นๆ เผื่อให้ง่ายต่อการวาดกราฟฟิค
- การการกราฟฟิค มีรูปแบบหลากหลาย-ไม่มีรูปแบบ โดยรูปแบบง่ายที่สุด คือ แผนผังความคิด(Mind map) รากไม้ จะอธิบายได้ชัดเจนเชิงตรรกศาสตร์ โดยเอาข้อมูลที่เราร่างไว้มาเขียนลำดับความสำคัญ ตามที่คิดไว้ ได้แก่ หัวข้อ ประเด็น เหตุผลสนับสนุน เป็นต้น
- การวาดภาพประกอบกราฟฟิค โดยใช้ภาพสื่อความหมายของตัวอักษรจะทำให้เข้าใจได้ง่าย ดูสวยงาม ทั้งนี้วาดไม่สวยไม่เป็นไร สำคัญ คือ การฝึกฝน
- การจัดองค์กระกอบศิลป์ ให้ภาพดูสมดุล ดูง่าย เพิ่มมากขึ้น 

ขั้นที่ ๕ : ขั้นเล่าเรื่องสื่อสาร 
- หากผู้เข้าร่วมไม่ค่อยมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ให้เล่าแบบนิรนัย โดยมองภาพรวมก่อนเเล้วแตกไปภาพย่อย หรือ เล่ารูปธรรมไปหานามธรรม
- หากผู้เข้าร่วมมีประสบการณ์เยอะเเล้วในเรื่องนั้น อาจเล่าแบบอุปนัย โดยมองภาพย่อยเเล้วเชื่อมโยงไปสู่ภาพรวม ทั้งนี้เเล้วเเต่เทคนิคการพูด
- การเล่าเรื่อง ต้องสรุป ย่อ พูดถึงเฉพาะคำสำคัญ ไม่ควรทวนเรื่องทั้งหมด เพราะจะทำให้น่าเบื่อ 

การเป็น Note taker คือ บทบาทที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ ให้สามารถจับต้องได้มากยิ่งขึ้น ใช้ได้จริงเพิ่มมากขึ้นเเละทำให้เราเข้าใจงานที่ทำเพิ่มมากขึ้นผ่านการจัดการความรู้

การอ้างอิง 
หนังสือ
วิจารณ์ พานิช. (๒๕๕๙). ขอบฟ้าใหม่ในการจัดการความรู้. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม.

เว็ปไซต์
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. (ม.ป.ป.). เอกสารความรู้ เรื่อง การจัดการความรู้ ( Knowledge Management: KM ) กับการบริหารราชการสมัยใหม่. เข้าถึงได้จาก การจัดการความรู้ กรมการปกครองท้องถิ่น: http://www.dla.go.th/work/km/home/kmstory/kmstory2.htm

เขียนโดย ธีระวุฒิ ศรีมังคละ 
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
#เทคนิคการจับประเด็น #เทคนิคการสรุปบทเรียน #Note_taker

 


ข่าวโดย aom
ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561
จำนวนผู้อ่าน 977 คน

แสดงความคิดเห็น