News บทความที่น่าสนใจ 

 

ศักยภาพ หาโอกาส พัฒนาตนเอง สร้างความสัมพันธ์ และรู้จักยอมรับความเสี่ยง

 


  

ศักยภาพคือ ตัวเราที่ดีกว่าในตอนนี้ ลองมองไปที่โต๊ะทำงาน ลองสังเกตดีๆ เราจะเห็นคนนั่งอยู่ตรงนั้น มองจากไกลๆ จะเห็นว่ารูปร่างหน้าตาคล้ายเรา แต่ถ้ามองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นว่าคนๆ นั้นดูดีกว่า ดูมีสุขภาพที่ดีกว่า คนๆ นั้นคิดและทำเหมือนกับเรา แต่ดูเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจทำงานมากกว่า และคนที่นั่งอยู่ตรงนั้น ก็คือตัวเราที่ดีกว่าในตอนนี้

 

เราเพิ่งอ่านหนังสือจบ Maximize your potential เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับศักยภาพของเรา ศักยภาพคือความสามารถที่เรามีได้ คือตัวเราที่ดีกว่าในตอนนี้ ในหนังสือมีแนวคิดหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ แต่เราจะแนะนำให้รู้จักแค่ 4 อย่าง ที่เราคิดว่าสำคัญ

Permanent Beta

บริษัทไอทีมักจะใช้คำว่า Beta สำหรับซอฟต์แวร์ที่ปล่อยให้ใช้งานก่อนที่จะออกเวอร์ชันจริง เพื่อบอกว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่ยังทำไม่เสร็จและยังต้องปรับปรุงอีก ยกตัวอย่างเช่น Gmail ที่เปิดตัวออกมาให้ใช้งานได้ตั้งแต่ปี 2004 และยังคงเป็น Beta จนกระทั่งปี 2009 หลังจากที่คนนับล้านได้ลองใช้งาน

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Amazon มักจะเขียนคำว่า It’s still Day 1 ลงท้ายในรายงานประจำปีที่ส่งให้ผู้ถือหุ้น เพื่อย้ำให้คนอ่านรู้ว่าเรายังเพิ่งเริ่มต้น เพื่อกระตุ้นเตือนว่าให้ระวังและใส่ใจอยู่เสมอ นั่นหมายความว่า Amazon จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ แต่มันยังเพิ่งเริ่มต้น มันยังคงเป็น Day 1

ตัวเราก็เช่นเดียวกัน ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะเรียนรู้ ได้ทำมากขึ้น ได้รับผิดชอบมากขึ้น ได้เติบโตมากขึ้น ถ้าเราทำตัวให้เป็น Beta อยู่เสมอ มันจะทำให้เรารู้ว่าเรายังมีบั๊ก และยังมีอีกหลายๆ อย่างที่เราต้องแก้ไข มันจะทำให้เราปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งชีวิตของเราที่จะต้องอุทิศให้กับการพัฒนาตนเอง และเมื่อเราเป็นคนที่ดีขึ้น เราก็จะมีส่วนช่วยทำให้คนรอบๆ ตัวเราดีขึ้น ทำให้สังคมดีขึ้นได้

The measure of intelligence is the ability to change.—Albert Einstein

คำชม

Carol Dweck คนเขียนหนังสือ Mindset ได้ศึกษาผลกระทบของคำชมที่มีต่อเด็ก ที่จะทำให้เกิดความเชื่อว่าเค้าทำได้หรือทำไม่ได้ ในตอนที่ต้องเจอกับความยากลำบาก เค้าให้เด็กนักเรียนที่มีความสามารถพอๆ กัน เริ่มทำแบบทดสอบชุดแรก ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างง่าย หลังจากนั้นเด็กๆ จะได้รับคำชมที่ทำแบบทดสอบได้ดี นักเรียนกลุ่มแรกได้รับคำชมว่าเป็นคนฉลาด มีพรสวรรค์  ส่วนกลุ่มที่สองได้รับคำชมว่ามีความพยายาม ตั้งใจเตรียมพร้อมก่อนทำแบบทดสอบ

หลังจากนั้นเค้าให้เด็กๆ ทำแบบทดสอบชุดที่สอง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากกว่าชุดแรกมาก แทบจะไม่มีใครทำได้เลย และหลังจากนั้นบอกเด็กทุกคนว่าทำผลงานได้แย่กว่าเดิมมากๆ และสุดท้ายให้เด็กๆ ทำแบบทดสอบชุดที่สาม ซึ่งเป็นปัญหาที่ง่ายพอๆ กับชุดแรก เพื่อดูว่าความล้มเหลว มันจะมีผลกระทบต่อเด็กๆ ยังไงบ้าง

เค้าพบว่าเด็กกลุ่มที่เคยได้รับคำชมว่าเป็นคนฉลาด ทำคะแนนในแบบทดสอบชุดสุดท้ายได้น้อยลง น้อยกว่าแบบทดสอบชุดแรกประมาณ 25% เมื่อเจอปัญหายากๆ เด็กกลุ่มนี้มักจะโทษว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ส่งผลทำให้เด็กไม่ชอบแก้ปัญหาและล้มเลิกง่ายๆ

ส่วนเด็กกลุ่มที่เคยได้รับคำชมว่ามีความพยายาม สามารถทำคะแนนได้ดีกว่าแบบทดสอบชุดแรกประมาณ 25% เมื่อเจอปัญหายากๆ เด็กกลุ่มนี้จะโทษว่าตัวเองไม่ได้พยายามมากพอ ส่งผลทำให้เด็กตั้งใจและใช้เวลามากขึ้นในการทำแบบสอบชุดสุดท้าย นอกจากนั้นยังพบว่าเด็กๆ ชอบการแก้ปัญหาด้วย

เราจะเห็นได้ว่าคำชมเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระวัง เด็กที่พ่อแม่หรือครู ชมว่าเป็นคนฉลาด เมื่อต้องเจอกับปัญหายากๆ มันจะทำให้เด็กสงสัยในความฉลาดของตัวเอง และทำให้เสียความมั่นใจ ทำให้เด็กมีผลการเรียนที่แย่ลง

ถ้าเรามองว่าความถนัดหรือความสามารถเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด มันจะทำให้เราเชื่อว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ ถ้าเรามองว่าตัวเราเป็นคนเก่ง มันจะไม่ดีในตอนที่เราต้องเจอปัญหาที่ยากๆ เพราะมันจะทำให้เราสงสัยในความสามารถของตัวเอง สุดท้ายทัศนคติแบบตายตัวมันจะทำให้เราคิดว่าเราไม่เก่งจริง มันจะทำให้เรากังวล และความกังวลนั่นแหล่ะที่จะทำให้เราล้มเหลวได้

ดังนั้นเราจึงควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ มองว่าตัวเราดีขึ้นได้ วันนี้เราทำได้ดีกว่าเมื่อวาน ดีกว่าเดือนที่แล้ว ดีกว่าปีที่แล้ว ทัศนคติแบบเติบโตมันจะทำให้เราเห็นพัฒนาการ มันจะเป็นเกราะป้องกันให้เราในตอนที่เราทำผิดพลาด เพราะเราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ เมื่อเราต้องเจอกับความยากลำบาก เราก็ยังมีแรงกระตุ้นที่จะทำต่อไป เราจะพบว่างานมันน่าสนใจและสนุกที่ได้แก้ปัญหา มันจะทำให้เราไม่เครียดไม่กังวล ทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เราระลึกได้ว่า นี่แหล่ะคือเหตุผลของการมีชีวิต

ความเสี่ยง

ความเสี่ยงคือ สิ่งที่เราไม่รู้ ที่เรารู้ เช่น เราจะไปรอรับเพื่อนที่สนามบิน ถ้าเครื่องบินดีเลย์หลายชั่วโมงนั่นคือความเสี่ยง แต่เรารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าเครื่องบินมันอาจจะดีเลย์ได้ ดังนั้นเราจึงวางแผนรองรับได้เหมาะสม

ความไม่แน่นอนคือ สิ่งที่เราไม่รู้ ที่เราไม่รู้ เช่น เราอาจจะไปรับเพื่อนที่สนามบินไม่ทันเพราะเกิดอุบัติเหตุ ไม่มีใครทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าอย่างแม่นยำจากอดีตได้ เราจึงต้องเจอกับความไม่แน่นอนของเหตุการณ์

ความเสี่ยงคือ ความไม่แน่นอนของผลลัพธ์หลายๆ อย่างที่มันเกิดขึ้นได้ ที่มันผิดไปจากความคาดหวังของเรา ที่มันสร้างความเสียหายหรือทำให้เกิดความสูญเสีย

ความไม่แน่นอน ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่า งานนี้เราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่เรารู้ว่าเราต้องพยายามต่อไป ยิ่งเราทำมากเท่าไหร่ มันก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะสำเร็จ

You miss 100% of the shots you don’t take. —Wayne Gretzky

Pablo Picasso ทั้งชีวิตสร้างผลงานออกมามากมาย ทำให้มีผลงานธรรมดาหลายชิ้นถูกเก็บไว้ตามสถานที่ต่างๆ เค้าไม่รู้หรอกว่าผลงานชิ้นไหนที่มันจะได้รับความนิยม หรือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่เค้าทำคือ ทำแล้วทำอีก สร้างผลงานออกมาเรื่อยๆ แต่ละครั้งก็เหมือนกับการทอยลูกเต๋า

ถ้าเราต้องลงทุนทำหลายๆ อย่าง เพื่อหวังว่าจะประสบความสำเร็จ เราก็ไม่ควรลงทุนทุ่มจนสุดตัว เพราะถ้าสิ่งนั้นล้มเหลว เราก็จะสูญเสียและไม่สามารถลงทุนกับสิ่งอื่นได้อีก

ในโลกที่เราไม่อาจคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้เราไม่รู้ว่าแผนการหรือกลยุทธ์ไหนที่ดีที่สุด ทำให้ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดีที่สุด สิ่งที่เราทำได้คือลองทำไปเรื่อยๆ ลองเส้นทางใหม่ๆ แต่เราก็ต้องระวังไม่เอาทั้งตัวไปเสี่ยง จนกว่าเราจะมั่นใจว่ามันจะไปได้ดี

The enemy of creation is not uncertainty, it’s inertia.

ความผิดพลาด

เมื่อพูดถึงความเสี่ยง เรามักจะนึกถึงความผิดพลาด และมันก็ทำให้เรากลัว ไม่กล้าที่จะลงมือทำ ทำให้เราอยากหลีกหนีไปให้ไกลจากความเสี่ยง

ทำไมเราถึงกลัวความผิดพลาด? ทำไมเราถึงท้อแท้และล้มเลิกกลางคัน?

ถ้าหากเรามองด้านดีของความเสี่ยง เราจะเห็นโอกาสที่เราจะได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ ได้เติบโต เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาหรือความท้าทายในวันข้างหน้า

งานวิจัยทำให้เราพบว่า ยิ่งเรากลัวที่จะทำผิดพลาด เราก็จะยิ่งล้มเหลว ยิ่งกังวลว่าเราจะแพ้ มันก็จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสชนะน้อยลง

เราหมกมุ่นอยู่กับความล้มเหลวมากเกินไป ความพึงพอใจจากความสำเร็จมันอยู่กับเราเพียงชั่วคราว แต่ความเสียใจจากการทำผิดพลาดมันจะอยู่กับเรานานมากกว่า เรารู้สึกอับอายขายหน้า เราให้ความสำคัญกับความเห็นของคนอื่นที่มีต่อเรามากเกินไป

ความผิดพลาดทำให้เราเสียใจ แต่เราก็ปล่อยวางมันได้ นอกจากนั้นเรายังเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ แต่ความรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำ เสียดายที่เราไม่ยอมเสี่ยง เวลาที่เราย้อนกลับไปคิดถึงมัน มันจะทำให้เราเป็นทุกข์ และมันจะมีผลกับเรายาวนานมากกว่า

ความย้อนแย้งของความเสี่ยงจึงเกิดขึ้น ความเสี่ยงทำให้เราไม่อยากเปลี่ยนวิธีหรือเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้เราต้องใช้วิธีเดิมๆ ไปตามเส้นทางเดิมๆ ทำตามคนอื่นๆ อยู่ในพื้นที่ที่เราสบายใจ เราพยายามอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ทำให้เราต้องเสียใจ แต่สุดท้ายเราก็ยังเสียใจที่เราไม่กล้าเสี่ยงลงมือทำ

หลังจากที่เราได้ตัดสินใจ เราต้องพยายามอย่างเต็มที่ ใช้ความสามารถทั้งหมดที่มี เพื่อทำให้สำเร็จ เพื่อทำให้การตัดสินใจครั้งนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นความตาย ส่วนใหญ่เราจะห่วงเรื่องเงิน ชื่อเสียง หรือ Ego ของเรา ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น มันยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียจากการที่เราไม่ยอมตัดสินใจลงมือทำ ดังนั้นเราจึงควรรู้จักยอมรับความเสี่ยง และให้อภัยในความผิดพลาดของตัวเอง

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การหลบกระสุนได้ทุกนัด แต่อยู่ที่การรักษาบาดแผลให้หายกลับมาได้เร็ว วางแผนเตรียมรับมือความผิดพลาด ยืดหยุ่นเหมือนยาง อย่าแข็งเหมือนคอนกรีต เพราะในเวลาที่ความผิดพลาดเกิดขึ้น ยางมันจะดูดซับผลกระทบ มันจะดูดซับพลังงานแล้วเด้งกลับคืนมา จากผลกระทบมันจะเปลี่ยนให้กลายเป็นโอกาสในครั้งต่อไปได้

สรุป

ในหนังสือ Maximize your potential ยังมีแนวคิดสำคัญหลายอย่างที่เราไม่ได้นำเสนอในบทความ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ การสร้างนิสัยขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ เพราะไม่มีใครอยู่ตัวคนเดียว งานวิจัยทำให้เรารู้ว่า ยิ่งเราถาม ยิ่งเราขอความช่วยเหลือจากใคร คนนั้นก็จะมองว่าเรามีความสามารถที่รู้จักถามและขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ได้ทำให้เค้ามองว่าเราไร้ความสามารถแต่อย่างใด

เราจะใช้ความสามารถได้เต็มศักยภาพหรือมากกว่าที่เราคิด ถ้าเราหาโอกาส พัฒนาตนเอง สร้างความสัมพันธ์ และรู้จักยอมรับความเสี่ยง

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

ที่มา

https://www.nicetofit.com/%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/


ข่าวโดย dd
ลงวันที่ 14 มีนาคม 2561
จำนวนผู้อ่าน 462 คน

แสดงความคิดเห็น